5.7.51

Green city

สถาบันอีกแห่งที่จัดอันดับเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า “กรีนซีตี้” คือเว็บไซต์ Grist ซึ่งเป็นศูนย์รวมข่าวสารทางด้านสิ่งแวดล้อมโดยในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วได้จัดอันดับ 15 เมืองเขียวโดยดูจากนโยบายแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมืองต่าง ๆ


อันดับหนึ่งใน 15 เมืองเขียวของโลก คือเมืองเรคยาวิก ในไอซ์แลนด์ เมืองนี้มีนโยบายใช้รถเมล์ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงและมีแผนที่จะไม่ใช้พลังงานจากน้ำมันเลยภายในปีพ.ศ. 2593

เมืองที่สองคือ พอร์ตแลนด์ ในออริกอนของอเมริกา เป็นเมืองที่มีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน มีการสนับสนุนรถราง การขี่จักรยานและอาคารเขียว

อันดับสามคือ เมืองกูรีตีบา ในบราซิล เป็นเมืองที่มีการใช้รถเมล์มากที่สุดในโลกและยังมีพื้นที่สีเขียว 580 ตารางฟุตต่อหัว

อันดับสี่ใน 15 เมืองเขียวคือ Malmo เมืองใหญ่อันดับสามของสวีเดนเมืองนี้มีชื่อในเรื่องสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียว ผู้บริหารเมืองมีแผนที่ชัดเจนทำให้เป็นอีโค่ซิตี้

อันดับห้าคือเมืองแวนคูเวอร์ ในแคนาดา 90% ของพลังงานที่ใช้ในเมืองนี้เป็นพลังงานหมุนเวียน มีสวนสาธารณะ 200 แห่ง และกำลังวางแผนเมืองล่วงหน้าหนึ่งร้อยปี

อันดับหกคือ โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ประชาชนเมืองนี้ใช้จักรยานกันมากเป็นเมืองที่รับรางวัลการบริหารสิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยมของยุโรป และมีสีเขียวมากกว่าเมืองใด ๆ

อันดับเจ็ดคือ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมืองนี้ในการจัดอันดับของ Reader’s Digest อยู่อันดับที่ 27 แต่ Grist ให้อยู่อันดับเจ็ดเพราะมีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 60 % ภายใน 20 ปีและมีระบบภาษีที่สนับสนุนการใช้รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ชัดเจน

เมืองเขียวอันดับแปดคือ ซาน ฟรานซิสโก ของอเมริกา ซึ่งมีพื้นที่ 17% เป็นสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียว ประชาชนที่นั่นใช้รถสาธารณะ ขี่จักรยานหรือไม่ก็เดินไปทำงาน เป็นเมืองที่มีอาคารที่จัดเป็นอาคารเขียว (Green Building) เยอะมากเมืองนี้ห้ามใช้ถุงพลาสติกใหม่และของเล่นพลาสติกเด็กที่เป็นพิษ

อันดับเก้าในตารางคือเมือง Bahia de Caraquez ในประเทศเอกวาดอร์ เป็นประเทศที่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก รู้แต่ว่ามีทีมฟุตบอลเก่ง เมืองนี้ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสิบห้าเมืองเขียว เนื่องจากมีนโยบายชัดเจนโดยมีการประกาศแผนเป็น “อีโค่ซิตี้” ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 พร้อมปรับปรุงเมืองและโฆษณาว่าเป็นเมืองสำหรับนักท่องเที่ยวประเภทอีโค่ทัวร์

อันดับสิบ คือเมืองซิดนีย์ ในออสเตรเลีย ถ้าจำกันได้เมืองนี้เป็นเมืองแรกที่มีประกาศปิดไฟทั้งเมืองเพื่อร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน เป็นเมืองที่มีความกระตือรือร้นและมีโครงการร่วมแก้ปัญหาโลกร้อนหลายโครงการ

เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปนอยู่ในอันดับสิบเอ็ด เป็นความประหลาดใจเช่นกันเพราะเป็นที่รู้กันว่าเมืองในสเปนค่อนข้างจะสกปรก แต่ว่ากันว่าเมืองนี้มีฟุตบาทสำหรับคนเดินมากกว่าเมืองใด ๆ นอกจากนี้ยังมีแผนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และสร้างสวนจำนวนมาก

อันดับสิบสองคือเมืองโบโกตา ในประเทศโคลัมเบีย เคยเป็นเมืองของอาชญากรรมและสลัม แต่เมืองนี้โชคดีที่ได้พ่อเมืองที่มีชื่อว่า Enrique Penalosa ผู้ซึ่งปฏิวัติเมืองใหม่สร้างระบบรถเมล์ที่มีประสิทธิภาพ สร้างทางรถจักรยานยาวกว่า 180 ไมล์ ห้ามรถวิ่งเข้าใจกลางเมือง และปรับปรุงพื้นที่สีเขียวกว่า 1,200 แห่ง

กรุงเทพฯ อยู่อันดับที่สิบสาม ได้เข้าอยู่ในกลุ่ม 15 เมืองเขียวเนื่องจากผู้ว่านายอภิรักษ์ โกษะโยธินได้ประกาศแผนกรุงเทพฯ เขียวห้าปี ซึ่งมีทั้งการนำเอาน้ำมันพืชกลับมาใช้ใหม่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ การสนับสนุนอาคารสีเขียว นอกจากนี้ผลงานการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่ผ่านมาก็จัดว่าใช้ได้

อันดับที่สิบสี่คือ เมืองกัมปาลา ในประเทศยูกันดาเป็นเมืองที่สร้างขึ้นบนเนินเขาเจ็ดลูก และพยายามพัฒนาเป็นเมืองใหญ่แต่เจอปัญหาความยากจนและมลพิษ จึงปฏิวัติการใช้พื้นที่ในเมืองใหม่ อนุญาตให้ทำการเกษตรในเมือง สร้างระบบรถเมล์ที่มีประสิทธิภาพ กวาดแท็กซี่ออกจากถนนโดยการเก็บภาษีรถติดทำให้มีอนาคตที่แจ่มใสขึ้น

อันดับสุดท้ายของสิบห้าเมืองเขียวคือเมืองออสติน มลรัฐเทกซัสในอเมริกาซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางผลิตอุปกรณ์เพื่อการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ เมืองนี้วางแผนใช้พลังงานไฟฟ้า 20% ที่มาจากพลังงานหมุนเวียนและเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมทั้งเลนรถจักรยานยาว 32 ไมล์

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ